วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

ทวีปเอเชีย ตอน2


โครงสร้างทางธรณีวิทยาของทวีปเอเชีย ประกอบด้วยส่วนที่เป็นเขตหินเก่าและเขตหินใหม่ เขตหินเก่า มีอยู่ 3 บริเวณ คือ
1.บริเวณที่ราบสูงภาคเหนือ ในเขตประเทศสหภาพโซเวียต (เดิม)
2.บริเวณที่ราบสูงอาหรับในประเทศซาอุดิอาระเบีย และ
3.บริเวณที่ราบสูงเดดคานในประเทศอินเดีย เขตหินใหม่ จะเริ่มจากแนวเทือกเขาในประเทศตุรกี ผ่านมาทางภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะประกอบด้วยที่ราบสูง เทือกเขา และหมู่เกาะต่างๆ เขตนี้พื้นผิวโลกอ่อนตัวมาก จึงมีภูเขาไฟและแผ่นดินไหวอยู่เสมอ
ลักษณะของภูมิประเทศของทวีปเอเชีย แบ่งออกได้เป็น 5 เขต คือ
1.เขตที่ราบต่ำทางเหนือ คือ บริเวณตอนบนของทวีปซึ่งอยู่ในเขตประเทศสหภาพโซเวียต (เดิม) เป็นที่ราบดินตะกอนใหม่ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจน้อยเพราะอยู่ในเขตอากาศหนาวเย็น
2.เขตเทือกเขาและที่ราบสูงตอนกลาง เป็นเขตพื้นที่อันกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยเทือกเขาและที่ราบสูง โดยเริ่มจากตอนกลางของทวีปแล้วจึงแผ่ขยายแนวไปทางทิศตะวันออกออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และทางตะวันตก ยอดเขาและเทือกเขาที่สำคัญของทวีปเอเชียส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตนี้
3.เขตที่ราบสูงภาคใต้ เป็นเขตที่ราบสูงหินเก่าตั้งอยู่ในบริเวณคาบสมุทร คือ ที่ราบสูงอาหรับในคาบสมุทรอาหรับ ที่ราบสูงเดดคานในคาบสมุทรอินเดีย ที่ราบสูงยูนนานในคาบสมุทรอินโดจีน โดยพื้นที่จะยกสูงทางตะวันตกแล้วค่อยๆลาดเทต่ำไปทางตะวันออก
4. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำใหญ่ เขตนี้เกิดจากแม่น้ำสายต่างๆ ที่อยู่ทางตะวันออกและทางใต้ของทวีป พัดพาเอาดินตะกอนมาทับถมกันจนกลายเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง เป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญของทวีป เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโห ที่ราบแม่น้ำโขง ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา ที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ ที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกริส - ยูเฟรติส เป็นต้น
5. เขตหมู่เกาะภูเขาไฟ เป็นเขตหินใหม่ คือ บริเวณหมู่เกาะอันเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟ ทั้งที่ดับแล้วและที่ยังคุกรุ่นอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้วยเหตุที่ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่กว้างใหญ่และมีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นจึงทำให้ทวีปเอเชียมีลักษณะภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติที่แตกต่างกันตามไปด้วย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้8แบบคือ
1.แบบร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร มีอุณหภูมิสูง ฝนตกชุก ช่วงฤดูแล้งสั้น โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมฤดูร้อน พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดงดิบ ได้แก่ บริเวณพื้นที่ตั้งแต่ภาคใต้ของไทยลงไป
2.แบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน มีฤดูร้อนแห้งแล้งและฤดูฝนที่เด่นชัด มีฝนตกในฤดูร้อนและแห้งแล้งในฤดูหนาว พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าโป่งสลับทุ่งหญ้า อากาศประเภทนี้อยู่บริเวณคาบสมุทรอินเดียและคาบสมุทรอินโดจีน
3.แบบมรสุมเขตอบอุ่น มีลักษณะคล้ายมรสุมเขตร้อน แต่ในฤดูหนาวอากาศหนาวเย็นกว่า พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าไม้ใบกว้าง ผลัดใบในหน้าหนาวหรือป่าไม้แบบผสม เขตอากาศแบบนี้อยู่ในบริเวณชายฝั่งตะวันออกของจีน พื้นที่ประเทศญี่ปุ่น และคาบสมุทรเกาหลี
4.แบบทุ่งหญ้าอบอุ่นภายในทวีป อากาศจะหนาวจัดในฤดูหนาว (อุณหภูมิจะต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส) ในฤดูร้อนอากาศค่อนข้างเย็น ฝนตกน้อย พืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้าที่มีหญ้าสั้น เช่นในเขตที่ราบตอนกลางของแมนจูเรีย มองโกเลีย และไซบีเรียตะวันออก
5.แบบทะเลทราย อากาศจะร้อนจัดในตอนกลางวัน พืชพรรณธรรมชาติเป็นพวกทุ่งหญ้าสั้นและไม้หนาม เขตอากาศแบบนี้จะมีกระจายกันเป็นหย่อมๆ แต่ที่มีแผ่เป็นบริเวณกว้าง ได้แก่ บริเวณคาบสมุทรอาหรับ ตะวันตกของคาบสมุทรอินเดีย และบริเวณตอนกลางของทวีปเอเชีย
6.แบบเมดิเตอร์เรเนียน ในฤดูร้อนอุณหภูมิสูง อากาศร้อนและแห้งแล้ง ในฤดูหนาวอากาศจะอบอุ่นชื้นและมีฝนตก พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าไม้ไม่ผลัดใบ เช่น ไม้ซีดาร์ ได้แก่ บริเวณพื้นที่ทางตะวันออกของทวีปที่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
7.แบบกึ่งขั้วโลก เขตนี้มีอากาศหนาวจัด มีหิมะตกเกือบตลอดปี พืชพรรณธรรมชาติเป็นพวกไม้สน เขตอากาศแบบนี้จะอยู่ทางตอนบนของทวีป โดยเฉพาะเขตไซบีเรียของสาธารณรัฐรัสเซีย
8.แบบขั้วโลกหรือทุนดรา อากาศจะหนาวจัดมาก พื้นดินปกคลุมด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี พืชพรรณธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นพวกตะไคร่น้ำและหญ้ามอสซึ่งจะขึ้นได้บ้างในฤดูร้อน เขตอากาศแบบนี้จะอยู่ทางตอนบนสุดของทวีปบริเวณที่จดชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก
ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก คือ ประมาณ 44.3 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 3,070 ล้านคน ประกอบด้วย 40 ประเทศ และ 2 ดินแดนที่ยังมิได้เป็นประเทศโดยสมบูรณ์ เพื่อความสะดวกแก่การศึกษาทำความเข้าใจ ดังนั้นจึงได้มีการแบ่งทวีปเอเชียออกเป็นภูมิภาค โดยใช้หลักเกณฑ์ทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองการปกครอง เป็นปัจจัยในการแบ่ง ซึ่งสามารถแบ่งทวีปเอเชียออกเป็น 5 ภูมิภาค โดยกำหนดชื่อเรียกตามทิศทางเป็นสำคัญได้แก่
1.ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2.ภูมิภาคเอเชียตะวันออก
3.ภูมิภาคเอเชียใต้
4.ภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
5.ภูมิภาคเอเชียกลาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น